15 Mar เรื่องเล่าจากคดี ตอนที่ 1 หมิ่นประมาทนายจ้าง
การหมิ่นประมาทนายจ้าง
นายจ้างย่อมมีกำลังทรัพย์ อำนาจมากกว่าลูกจ้างซึ่งมีฐานะด้อยกว่าอยู่แล้ว ซึ่งลูกจ้างหลายๆคนต้องถูกกดขี่ ข่มเหงจากนายจ้าง เมื่อลูกจ้างพยายามต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมนี้ หลายๆครั้งนายจ้างจะใช้กำลังทรัพย์ ฟ้องปิดปากลูกจ้าง อย่างเช่นคดีที่ผมจะเล่าต่อไปนี้
เมื่อช่วงกลางปี 2566 ผมได้รับทำคดีให้ลูกความท่านหนึ่ง ลูกความท่านนี้เป็นลูกจ้างของร้านขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง เจ้าของร้านวัสดุก่อสร้างรายนี้ได้ส่งข้อความหาลูกจ้างในทำนองว่าต้องการซื้อบริการทางเพศจากลูกจ้าง เสนอเงินให้จำนวน 5,000 บาท เมื่อลูกจ้างปฎิเสธเลยเพิ่มเงินให้เป็นเงิน 10,000 บาท ลูกจ้างจึงลาออกทันทีและได้ไปโพสต์ข้อความในกลุ่มข้อมูลข่าวสารของอำเภอเพื่อเตือนภัยการกระทำนี้
ต่อมานายจ้างไปฟ้องร้องเป็นคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณากับลูกจ้าง ลูกจ้างจึงได้ติดต่อผมมาให้ว่าความคดีนี้ให้ ผมจึงแนะนำให้ลูกจ้างไปแจ้งความกับตำรวจเป็นคดีนายจ้างสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ขอไปเล่าต่อในตอนที่ 2 เรื่อง“นายจ้างล่วงเกินทางเพศ” นะครับ
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
ผมสู้คดีโดยใช้หลักคือ
1. ลูกจ้างไม่ได้โพสต์ชื่อนายจ้างหรือชื่อร้านโดยตรง เพียงแต่ระบุชื่ออำเภอ ซึ่งไม่น่าจะทำให้ระบุตัวตนผู้ถูกกล่าวถึงได้
2. ใช้ข้อยกเว้นความผิดตามมาตรา 330 ว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวทำไปเพราะต้องการเตือนภัยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการเตือนสตินายจ้างว่าไม่ควรทำพฤติกรรมเช่นนี้ด้วย
ภายหลังจากที่มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลได้มีคำพิพากษาว่าลูกจ้างได้ทำการหมิ่นประมาทด้วยการโหษณาต่อนายจ้างจริง แต่การเผยแพร่ข้อความเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่ต้องรับโทษ พิพากษายกฟ้อง
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม คลิ๊ก
ปภังกร สถิรรัตน (ทนายอาร์ต)
ยินดีให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย
#บริการร่างหนังสือสัญญา #จัดทำสัญญา
Sorry, the comment form is closed at this time.