11 เม.ย. กู้ยืมเงินแบบไหนมีโอกาสติดคุก!
กู้ยืมเงินแบบไหนมีโอกาสติดคุก!
โดยทั่วไปแล้วการกู้ยืมเงินถือเป็นสัญญาทางแพ่ง หากกู้ยืมเงิน 2,000 บาท ขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ หรือหากไม่ได้ทำสัญญาไว้ สามารถใช้แชทการสนทนาข้อความทั้งทาง Facebook หรือ Line ที่อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าใครเป็นหนี้ใครจำนวนเท่าไรพร้อมทั้งสลิปการโอนเงินหรือหลักฐานการส่งมอบเงิน ก็สามารถฟ้องร้องกันได้เช่นกัน
การฟ้องร้องหนี้กู้ยืมเงินนั้น เป็นเพียงการฟ้องร้องคดีในข้อหา ”ผิดสัญญาทางแพ่ง” ซึ่งไม่มีโทษจำคุกเหมือนคดี ”อาญา” หากฟ้องคดีชนะแล้ว แต่ลูกหนี้ยังไม่จ่ายเงิน เจ้าหนี้ต้องไปสืบเสาะหาทรัพย์สินลูกหนี้เพื่อให้บังคับคดีนำออกขายทอดตลาด นำเงินมาใช้เจ้าหนี้ต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้กว่าเจ้าหนี้จะได้เงินคืน ต้องใช้เวลานานหลายเดือนและหากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเลยหรือมีเงินเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท เจ้าหนี้ก็หมดหนทางในการได้เงินคืน
แต่หากลูกหนี้มีลักษณะการยืมเงินดังต่อไปนี้ เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีอาญาพร้อมเรียกเงินคืนได้เพราะมีความผิดเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง คือ
- กู้ยืมเงินไปแล้ว เจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ โดนบล็อกเบอร์โทรศัพท์ ปิดช่องทางการติดต่อ
- มีข้อตกลงผ่อนชำระเป็นงวด ลูกหนี้ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดแรกและไม่เคยชำระอีกเลย
- ลูกหนี้แจ้งวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมว่าจะเอาเงินไปใช้อย่างหนึ่ง แต่ความจริงเอาเงินไปใช้อีกอย่างหนึ่ง (ต้องระบุวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงินในสัญญา)
ลักษณะเหล่านี้บ่งบอกถึงเจตนาของลูกหนี้ว่า ตั้งใจจะไม่คืนเงินเจ้าหนี้ตั้งแต่ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน จึงไม่ใช่เป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง แต่เป็นการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
“มาตรา ๓๔๑ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ปภังกร สถิรรัตน (ทนายอาร์ต)
ยินดีให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย
#บริการร่างหนังสือสัญญา #จัดทำสัญญา
Sorry, the comment form is closed at this time.